1. การกำหนดเขตการก่อสร้าง
ก่อนการก่อสร้างจะเริ่มขึ้น ผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องการกำหนดเขตก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง หมุดหลักเขตและโฉนดที่ดินต้องมีครบถ้วน เมื่อรู้ตำแหน่งที่จะก่อสร้างเรียบร้อยจึงเริ่มก่อสร้างรั้ว และติดตั้งป้ายเพื่อแสดงเขตการก่อสร้าง จากนั้นวางตำแหน่งการจัดการภายในโครงการก่อสร้างให้เป็นระบบเพื่อให้ง่ายแก่การก่อสร้างและติดต่องานต่าง ๆ ดังภาพที่ 4.2
บางครั้งอาจจะมีการปรับพื้นที่ก่อสร้างในกรณีที่พื้นที่ก่อสร้างมีอุปสรรคหรือมีปัญหา เช่น มีลักษณะเป็นป่า เป็นบ่อหรือสระน้ำ หากมิได้มีการดำเนินการถมและปรับพื้นที่อย่างถูกวิธีแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมาในภายหลังได้ กล่าวคือจะทำให้อาคารทรุดตัว ดังนั้นจะต้องศึกษารายการแบบก่อสร้างและวิธีการดำเนินการให้ถูกต้องตามที่รายการก่อสร้างกำหนด
การวางตำแหน่งบริหารงานก่อสร้าง
2. การก่อสร้างอาคารชั่วคราว
อาคารชั่วคราว คือ เป็นการก่อสร้างสถานที่ทำงาน ที่พักคนงาน สถานที่เก็บวัสดุต่าง ๆตลอดจนอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์ให้ความปลอดภัยต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความยากง่ายในการก่อสร้าง และรื้อถอน จะต้องประหยัดไม่สิ้นเปลืองเกินไป ส่วนมากที่พักคนงานจะกั้นด้วยสังกะสีดังภาพที่ 4.3 (ก) อุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์ให้ความปลอดภัยต่าง ๆ จะต้องจัดให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการหยิบใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้จากภาพที่ 4.3 (ข) และภาพที่ 4.3 (ค) เป็นต้น ความจำเป็นในการสร้างอาคารชั่วคราว ก็เพื่อให้การดำเนินการงานก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นระเบียบ
ในงานก่อสร้างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างตั้งแต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ตะปูตำ เศษวัสดุตกใส่ ปูนซีเมนต์กัดมือและเท้า เป็นต้น จนถึงอุบัติเหตุรุนแรงเช่น ถูกไฟฟ้าช็อตตกจากที่สูง เป็นต้น จึงต้องมีการจัดอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่คนงานหรือวิศวกรควบคุมงาน เช่น หมวก รองเท้า ถุงมือ ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง ส่วนบริเวณที่อันตรายมาก ๆ ก็ให้ติดป้ายเตือนเช่น ที่ที่มีสายไฟฟ้าผ่าน เพื่อให้คนงานระมัดระวังตัวเมื่อทำงานบริเวณนั้น
สถานที่เก็บวัสดุและกองวัสดุจะต้องถูกหลักวิชา
ปูนซีเมนต์ ควรเก็บไว้ในสถานที่แห้งมีหลังคาและผนังปกคลุมมิดชิด แต่ต้องอย่าให้ความชื้นหรือน้ำเข้าทางพื้นหรือฝาได้ ถ้าเป็นไม้ต้องยกพื้นให้อยู่พ้นดินขึ้นไปมาก ๆ (ไม่ควรต่ำกว่า 30 ซม.) เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวก และให้ลมโกรกข้างล่างได้ ต้องทำพื้นให้แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของปูนซีเมนต์ได้ ดังภาพที่ 4.3 (ง) ในกรณีที่พื้นที่จำกัดหรือต้องทำงานกลางแจ้งเพื่อจะใช้งานก็ควรหาไม้มาทำเป็นพื้น และใช้ผ้าใบเตรียมไว้เพื่อคลุมกันความชื้นและฝน
หิน ทราย ที่จะใช้ในการก่อสร้าง จะต้องกองแยกกันและถ้าเป็นไปได้ควรทำหลังคาคลุมเพื่อไม่ให้ร้อนจัด
เหล็กเสริม ควรเก็บกองเป็นชั้น ๆ ตามขนาดต่าง ๆ กัน โดยที่มีที่รองรับและปกคลุมไม่ให้เปื้อนดิน โคลนและฝน ถ้าให้ดีควรมีหลังคาคลุมหรือสร้างโรงเก็บไว้เฉพาะ ซึ่งในการก่อสร้างโดยทั่วไปมักละเลยในการเก็บดังภาพที่ 4.4 (ก) แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่พื้นที่จำกัดจำเป็นต้องกองเหล็กกลางแจ้งก็ควรทำไม้รองหรือยกพื้นให้สูงเพื่อไม่ให้สัมผัสดินและใช้ผ้าคลุมยางคลุมกันฝนและโคลน ดังภาพที่ 4.4 (ข)
ไม้แบบหรือแบบหล่อ ควรสร้างโรงเก็บ อย่าปล่อยทิ้งตากแดดและฝน เพราะจะทำให้บิดงอและเสียรูปได้ นอกจากนี้ยังป้องกันการทำลายจากปลวกหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ
3. น้ำและไฟฟ้าชั่วคราวที่จะใช้ในการก่อสร้าง
น้ำและไฟฟ้าชั่วคราวก็เป็นส่วนสำคัญในงานก่อสร้างเช่นกัน น้ำเป็นส่วนที่ใช้ผสมคอนกรีต ใช้ล้างเครื่องมือเครื่องใช้ในงานก่อสร้าง และต้องมีน้ำสะอาดไว้เพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วย ซึ่งอาจจะขอใช้น้ำประปาที่ผ่านสถานที่ก่อสร้าง หรือถ้าไม่สามารถขอใช้น้ำประปาได้ ก็จะต้องสร้างความสัมพันธภาพกับบ้านหรืออาคารข้างเคียงเพื่อขอใช้น้ำ ส่วนไฟฟ้าที่ใช้ในการก่อสร้างมีความสำคัญไม่แพ้น้ำ เพราะในงานก่อสร้างมีการใช้เครื่องจักรอยู่พอสมควร และให้แสงสว่างในระหว่างก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าชั่วคราวจากไฟฟ้าเขตในท้องถิ่นนั้นๆ สิ่งที่ควรรู้คือ อุปกรณ์ที่จะใช้ไฟฟ้ามีอะไรบ้าง ต้องการใช้ด้วยกำลังไฟฟ้ากี่วัตต์ เพื่อสามารถติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราวหรือมาตรวัดไฟฟ้าได้ถูกต้องและเพียงพอต่อการใช้ในการปฏิบัติงานก่อสร้าง
บทความโดย : อนุชิต สุโพภาพ