บทความนั่งร้านคืออะไร

28/11/2021 | 3479

     ลักษณะของงานก่อสร้างส่วนใหญ่ จะเป็นการทำงานบนที่สูงและงานใต้ดินที่มีระดับชั้นความลึกต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จ

    ประกาศกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดสาระในเรื่อง การออกแบบนั่งร้าน การสร้างนั่งร้าน การใช้นั่งร้าน นั่งร้านมาตรฐาน การคุ้มครอง ความปลอดภัย มาตรฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย โดยมีสาระสำคัญดังนี้ การทำงานสูงเกิน 2 เมตรขึ้นไป ต้องสร้างนั่งร้าน กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดแบบ นั่งร้านมาตรฐาน ต้องจัดให้มีวิศวกรเป็น ผู้ออกแบบ และกำหนด รายละเอียดนั่งร้าน

    นั่งร้าน เป็นโครงสร้างชั่วคราวใช้ในงานก่อสร้างและซ่อมแซม ใช้สำหรับให้ช่างก่อสร้างปีนขึ้นไปที่สูง และเหยียบขึ้นไปเพื่อทำงาน รวมถึงใช้ในการวางสิ่งของที่จำเป็น และเมื่อก่อสร้าง ซ่อมแซมงานเสร็จ จะเก็บนั่งร้านออกทันที ไม่มีการเก็บนั่งร้านไว้ วัสดุที่ใช้ทำนั่งร้านมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและงบประมาณ โดยนั่งร้านที่นิยมใช้จะสร้างจากเหล็กท่อ และมีแผ่นไม้วางพาดสำหรับวางยืน ในขณะที่บางท้องที่อาจมีการใช้ไม้ไผ่ได้

ประเภทของนั่งร้านที่ใช้โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 6 ประเภท

1.     นั่งร้านไม้ไผ่

2.     นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว

3.     นั่งร้านเสาเรียงคู่

4.     นั่งร้านแบบใช้ท่อเหล็ก

5.     นั่งร้านแบบแขวน

6.     นั่งร้านชนิดเคลื่อนที่ได้

มาตรฐานนั่งร้าน

          ในส่วนของนั่งร้านทั่วไปนั้น จำเป็นต้องมีแบบที่เป็นมาตรฐานซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะใช้งานเป็นหลักนั่งร้าน จึงควรมีลักษณะมาตรฐาน ดังนี้

1. สำหรับนั่งร้านที่ทำด้วยไม้จะออกแบบเพื่อรับน้ำหนักไว้สูงสุดไม่เกิน 4 เท่า ของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง

2. การใช้นั่งร้านนั้นมีข้อควรระวังคือ ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดเดียวกันและไม่ควรใช้แบบผสมผสานกัน

3. นั่งร้านที่สูงกว่า 2 เมตร จะต้องมีราวกันตก

4. นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้จะต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุ เปื่อย และไม่มีรอยร้าวหรือ ชำรุดอื่นๆ ที่จะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน

5. นั่งร้านที่เป็นโลหะ ต้องมีจุดคราก (Yield Point) ไม่น้อยกว่า 2,400 กก./ ตาราง ซม. และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักของการใช้งาน

6. โครงนั่งร้านต้องมีการยึดโยง ค้ำยัน หรือตรึงกับพื้นดิน หรือส่วนของงานก่อสร้างเพื่อป้องกันมิให้เซหรือล้ม

7. ราวกันตก ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.10 เมตร จากพื้นนั่งร้านตลอดแนวยาวด้านนอกของนั่งร้าน ยกเว้นเฉพาะช่วงที่จำเป็นเพื่อขนถ่ายสิ่งของ และนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว

8. ต้องจัดให้มีบันไดภายในของนั่งร้านและมีความลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา ยกเว้นนั่งร้านเสาเดี่ยว

9. ต้องออกแบบเผื่อไว้ให้นั่งร้านสามารถรับน้ำหนักผ้าใบสังกะสี ไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกัน นอกจากนี้จะต้องมีการบำรุงดูแลรักษาสภาพการใช้งานของนั่งร้านอย่างสม่ำเสมอ หากมีพายุ แผ่นดินไหว หรือเหตุที่ทำให้นั่งร้านเสียสมดุลต้องทำการซ่อมหรือปรับปรุงแล้วให้มีสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งานและที่สำคัญ คือพนักงานทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน

 

อันตรายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการใช้นั่งร้าน

การพังของนั่งร้าน สาเหตุเกิดจาก

1.      รับน้ำหนักการบรรทุกมากเกินไปเพราะคนงานขึ้นไปมากเกินหรือกองวัสดุไว้มากเกินความจำเป็น

2.      วัสดุที่นำมาใช้ทำนั่งร้านไม่คงทนแข็งแรง ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม้เก่า เนื้อยุ่ย มีตาไม้ หรือเหล็กคดงอ และเป็นสนิม

3.      การประกอบติดตั้งไม่ถูกต้อง

4.      ฐานรองรับนั่งร้านไม่แข็งแรง