“ทำไมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถึงขาดทุนได้นะ?” คำถามนี้ถือเป็นคำถามยอดนิยม เมื่อสมาชิกได้รับใบแจ้งยอดแล้วพบว่า มูลค่าต่อหน่วยของตนเองในกองทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และคณะกรรมการกองทุนเองก็คงถูกตั้งคำถามจากสมาชิกในเรื่องนี้ว่าดูแลกองทุนอย่างไรถึงได้ขาดทุน
คำถามเหล่านี้เกิดจากการรับรู้ของสมาชิกที่ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกัน
ให้แก่ลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน กองทุนจึงต้องลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ไม่เสี่ยง
และต้องไม่สูญเสียเงินต้นด้วย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากมีคำถามจากสมาชิกเรื่องผลตอบแทนก็นับว่า
เป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงว่าสมาชิกเริ่มสนใจติดตาม ผลการดำเนินงานของกองทุน
สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ก็คือ การลงทุนทุกประเภท ล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น ซึ่งในความเสี่ยงนั้นทุกคน
ต้องรู้ว่าเรามีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และระดับความเสี่ยงจากการลงทุนอยู่ในระดับใด
ซึ่งระดับความเสี่ยงจะไปในแนวทางเดียวกับระดับ ผลตอบแทน เพราะเป็นธรรมชาติของสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง
จะต้องใช้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในการดึงดูดให้คนมาลงทุน
ดังนั้น ถ้าสมาชิกกองทุนยอมรับการขาดทุนไม่ได้ และกองทุนได้มีการนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากธนาคาร พาณิชย์ พันธบัตรรัฐบาล สมาชิกก็ต้องยอมรับผลตอบแทน ต่ำไปด้วย ถึงแม้ว่ากองทุนจะไม่ขาดทุนแต่สมาชิกก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ดี คือ ความเสี่ยงของเงินที่จะได้รับเมื่อออกจากกองทุนนั้นน้อยหรือไม่เพียงพอที่จะใช้ยังชีพหลังเกษียณ เพราะได้ผลตอบแทนน้อยหรือต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ การลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่กองทุน โดยน้ำหนักของ
การลงทุนในทรัพย์สินประเภทนี้จะต้องสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่กองทุนพอจะยอมรับได้ นอกจากนี้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนคำนวณมาจากราคาตลาดของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนมีอยู่ ดังนั้น หากราคาหุ้นลดลงหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ก็จะกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนให้ลดลง และยังส่งผลให้ “มูลค่าต่อหน่วย” ที่แสดงอยู่ในรายงานรายตัวสมาชิกที่คุณได้รับทุก 6 เดือน จึงมีมูลค่าขึ้นๆ ลงๆ และเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง เป็นที่แน่นอนว่า NAV และมูลค่าต่อหน่วยย่อมต้องสะท้อนผลของการจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามราคาตลาด ผลของการบริหารโดยบริษัทจัดการตามนโยบายที่ได้รับจากคณะกรรมการกองทุน ซึ่งบริษัท
จัดการจะมีการจัดทำรายงานการลงทุนของกองทุนส่งให้คณะกรรมการกองทุนทราบทุกเดือน รวมทั้งจัดทำรายงานส่งให้กับสมาชิกทราบทุก 6 เดือน
ที่มา : www.thaipvd.com