Training new employees

22/02/2024 | 899
บริษัทมีการจัดอบรมพนักงานทุกรายก่อนเข้าทำงานตามขั้นตอนเพื่อให้ทราบถึงจุดประสงค์และเป้าหมายสูงสุดของบริษัท
การอบรมความปลอดภัยพนักงานใหม่จริง ๆ แล้วเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การอบรมความปลอดภัยพนักงานใหม่ ไม่ใช่การอบรมความปลอดภัยในการทำงานที่มีความเสี่ยง” เหมือนการอบรมความปลอดภัยในการทำงานที่สูง การทำงานอับอากาศ การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เป็นต้น แต่เป็นการอบรมความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เพื่อให้พนักงานใหม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ก่อนที่จะไปอบรมต่อในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานในหัวข้ออื่น ๆ

ปัจจุบันกฎหมายได้ประกาศให้นายจ้างต้องทำการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานให้กับลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ทุกคนก่อนเริ่มงานเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างได้รับอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน

“ พนักงาน ”ในทางกฎหมายจะเรียกว่า“ ลูกจ้าง ”

“ นายจ้าง ” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง

(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

“ ลูกจ้าง ” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

อ้างอิง : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

กฎหมายหลักที่ประกาศออกมาให้นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างให้ปลอดภัยนั้นได้แก้ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย

ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน

การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

จากข้อความในมาตรา 16 ของ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ย่อหน้าที่ 3 ได้มีการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอบรมที่อธิบดีประกาศกำหนด จึงทำให้มีการออกกฎหมายอีกฉบับที่จะอธิบายถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอบรม คือ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งในตัวกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นได้มีการแบ่งการอบรมออกเป็น 3 หัวข้อ

1. นายจ้างจัดให้ผู้บริหารอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับบริหาร

2. นายจ้างจัดให้หัวหน้างานอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน

3. นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยฯ ( อบรมพนักงานใหม่ )