วิธีการพ่นสีอย่างมืออาชีพ

15/10/2017 | 393501
ในการพ่นสีให้มีความสวยงามนั้น จะมีขั้นตอนการทำงานอยู่หลายขั้นตอนครับ ขึ้นอยู่กับสภาพชิ้นงานว่าเป็นชิ้นงานใหม่ หรือชิ้นงานเก่า ถ้าชิ้นงานใหม่ไม่เคยพ่นสีมาเลยก็จะทำง่ายหน่อยครับ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหารอยต่อของสีเก่าและสีทำใหม่ แต่ถ้าเป็นชิ้นงานที่เคยผ่านการพ่นสีมาแล้วขั้นตอนการทำก็จะมากกว่าครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่จะพ่นสีให้ออกมาสวยงามจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น คุณภาพของสินค้า ทักษะความชำนาญของผู้ปฎิบัติงานเอง เป็นต้น ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะพยายามอธิบายรายละเอียดทั่วๆไปของการพ่นสีนะครับ แต่ถ้าท่านใดอยากทราบรายละเอียดในเชิงลึก กรุณาโทรติดต่อกับทางร้านโดยตรงนะครับ



1.การเตรียมพื้นผิว ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการพ่นสีเลยก็ว่าได้ แต่ผู้ใช้บางคนก็ยังคิดว่า การเตรียมพื้นผิว และการพ่นสีพื้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญ เพราะจริงๆแล้ว การที่สีทับหน้าที่เราพ่นจะมีความทนทาน ไม่ลอก ไม่ร่อน นั้นปัจจัยหลักมาจากการเตรียมพื้นผิว และ การทำสีพ่นพื้นเลยทีเดียว ดังนั้นผู้ใช้ควรแยกให้ออกว่าเวลาชิ้นงานเกิดปัญหามันมีสาเหตุมาจากสิ่งใด ถ้าเกิดจากการเตรียมพื้นผิวแล้วละก็ เมื่อสีเกิดการลอก ร่อน ชึ้นมา ผิวสีจะหลุดออกจากชิ้นงานจนถึงตัววัสดุเลยครับ

ในส่วนของการเตรียมพื้นผิวจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.ชิ้นงานใหม่ไม่เคยผ่านการทำสีมาก่อน คือชิ้นงานที่เป็นผิวของวัสดุโดยตรง เช่น โลหะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น ชิ้นงานประเภทนี้ในกรณีพื้นผิววัสดุมีความเรียบเนียนดีอยู่แล้ว สามารถทำความสะอาดคราบฝุ่น คราบไขมัน และคราบสกปรกต่างๆ ให้สะอาดโดยการใช้ผงซักฟอกและล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด และใช้กระดาษทรายน้ำเบอร์ละเอียดตั้งแต่เบอร์ 320-600 ลูบปรับสภาพพื้นผิวให้เรียบเนียนอีกครั้ง แล้วทำการพ่นสีพื้นโดยเลือกตามชนิดของวัสดุให้ถูกต้อง เช่น สีพื้นธรรมดา สีพื้นเกาะเหล็ก สีพื้นเกาะพลาสติก โดยทั่วไปแล้วสีพื้นจะพ่นประมาณ 2 เที่ยวเพื่อให้มีการกลบตัวผิววัสดุที่ดี ไม่ควรพ่นสีพื้นหนาจะเกินไป เพราะจะทำให้ชิ้นงานดูหนา ไม่สวยงาม แล้วอาจเกิดการร่อนของชั้นสีพื้นได้

2.ชิ้นงานที่ผ่านการทำสีมาแล้ว ชิ้นงานลักษณะนี้อาจต้องใช้ทักษะกว่าอย่างแรกหน่อยครับ เริ่มจากทำความสะอาดชิ้นงานด้วยน้ำสบู่ หรือ ผงซักฟอก ล้างออกด้วยน้ำจนสะอาดเพื่อชะล้างสิ่งสกปรก คราบฝุ่น ไขมัน ต่างๆออกจากตัวชิ้นงาน การพ่นสีชิ้นงานประเภทนี้แบ่งเป็น 2 กรณีคือ

2.1 การพ่นสีใหม่หมดทั้งชิ้น หลังจากทำความสะอาดแล้ว ใช้กระดาษทรายเบอร์ 320-600 ลูบเพื่อปรับสภาพผิวให้ชิ้นงานเกิดความเรียบเนียน ในกรณีพ่นทับปนสีเก่านั้่น ลูบแค่ด้านก็พอ ไม่ต้องลูบลึกให้เกิดชั้นรอยต่อ หมายถึงให้สีเดิมคงสภาพอยู่ในชั้นสีบนสุดเหมือนกัน เพราะถ้าลูบลึกเกินไปจนเกิดความต่างของชั้นสีเดิม อาจมีปัญหาตามมาในการพ่นสีทับหน้าครั้งใหม่ พูดง่ายๆก็คือเตรียมพื้นผิวเหมือนกับพ่นชิ้นงานใหม่เลย มีข้อระวังอย่างเดียวก็คืออย่าลูบกระดาษทรายลงไปลึกเกินไป

2.2 การพ่นชิ้นงานในลักษณะการพ่นซ่อม คือไม่พ่นทั้งชิ้น เช่น แผลหินกะเทาะ รอยถลอกลึก แผลเท่านิ้วโป้ เป็นต้น แต่เพื่อให้สีเกิดความเรียบเนียนจึงจำเป็นต้องเคลือบแลคเกอร์ทั้งชิ้นงาน ในขั้นตอนแรกก็ทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ ผงซักฟอก และล้างออกให้สะอาดเหมือนกัน จากนั้นทำการเปิดแผลซ่อมด้วยกระดาษทราย ขึ้นอยู่กับความลึกของแผล โดยกระดาษทรายยิ่งเบอร์ต่ำ ยิ่งหยาบ ยิ่งกินเนี้อสีลงไปลึก โดยทั่วไปถ้าแผลไม่ลึกก็จะใช้กระดาษทรายประมาณเบอร์ 320-600 แต่ถ้าแผลลึกก็จะต้องใช้เบอร์ 150 320 และ 600 ตามลำดับ เปิดแผลให้เกินจากตัวชิ้นงานประมาณ 5-10 cm. ใช้กระดาษทรายขัดจนเรียบเนียน จากนั้นพ่นสีรองพื้นประมาณ 2 เที่ยวให้กลบรอยที่เกิดจากการขัดกระดาษทรายทั้งหมด หลังจากพ่นสีพื้นเสร็จใช้กระดาษทรายเบอร์ 1000 - 1500 ลูบชิ้นงานทั่วทั้งชิ้นเพื่อรอการพ่นสีจริงและเคลือบแลคเกอร์

***ในลักษณะงานบางชนิดอาจต้องใช้สีโป้วพลาสติกตกแต่งร่องรอยลึก เพื่อให้เกิดความสวยงามเพิ่มขึ้น โดยต้องใช้สีโป้วให้ถูกกับชนิดของงานและต้องอาศัยทักษะฝีมือด้วยครับ****



2.การพ่นสีจริง หลังจากปล่อยสีพื้นให้แห้งดีแล้ว (สีพื้นแห้งเร็ว สามารถพ่นทับได้ใน 10-20 นาที สีพื้น 2k สามารถพ่นสีทับได้ใน 180 นาที) พ่นสีทับหน้า ประมาณ 2-3 เที่ยว โดยในเที่ยวแรก ให้พ่นโปรยบางๆไปก่อนฟิล์มสีในเที่ยวนี้จะขึ้นไม่สม่ำเสมอ หรือ เป็นจ้ำๆ บ้างก็ไม่เป็นไรทิ้งระยะไว้ประมาณ 10 นาที พ่นเที่ยวที่ 2 พ่นโปรยบางๆ เหมือนในเที่ยวแรก แต่สามารถพ่นอัดได้นิดหน่อย แต่ระวังอย่าพ่นอัดมากเดี๋ยวสีจะไหลเยิ้ม ในเที่ยวนี้ฟิล์มสีจะค่อยๆเต็มขึ้น เรียบเนียนขึ้นแล้ว ทิ้งระยะไว้ประมาณ 10 นาที ในการพ่นครั้งที่ 3 โดยทั่วไปจะเป็นการพ่นเที่ยวสุดท้ายโดยพ่นเหมือนเที่ยวที่ 2 แต่ลักษณะของสีบางประเภทต้องพ่นซ้ำมากกว่า 3 ครั้งก็มี ทั้งนี้ท้ังนั้นผู้ใช้ควรดูให้แน่ใจด้วยว่าสีทับหน้ามีการกลบตัวดีแล้ว

ในกรณีพ่นซ่อมเฉพาะจุดให้พ่นสีให้กลบสีพ่นพี้นที่เปิดแผลไว้ทั้งหมด โดยไม่ต้องพ่นสีจริงทั่วทั้งชิ้นงาน.



3.การพ่นแลคเกอร์เคลือบเงา หลังจากพ่นสีจริงเสร็จแล้ว ประมาณ 30 นาทีให้ทำการเคลือบแลคเกอร์ ประมาณ 2-3 เที่ยว โดยในเที่ยวแรกให้พ่นโปรยบางๆ ให้ทั่วๆไปก่อน ในเที่ยวนี้แลคเกอร์ที่พ่นจะเงามั่ง ด้านมั่ง ก็ไม่เป็นไร ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที พ่นเที่ยวที่ 2 ให้พ่นอัดได้เลยในเที่ยวที่ 2 แต่ระวังอย่าให้แลคเกอร์ไหล พ่นแลคเกอร์ให้ทั่วชิ้นงาน โดยในรอบนี้แลคเกอร์ต้องขึ้นเงาเกิดเป็นฟิล์มที่สวยงามแล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที พ่นเที่ยวที่ 3 โดยพ่นเหมือนเที่ยวที่ 2



4.การขัดเคลือบสี ขั้นตอนนี้จะไม่เกี่ยวกับการพ่นสีแล้วนะครับ แต่จะเป็นขั้นตอนในการจบงาน คือเมื่อเราเคลือบแลคเกอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 3-7 วัน เมื่อแลคเกอร์แห้งตัวดีแล้ว ความเงาของแลคเกอร์มักจะลดลงจากในวันแรกๆ วิธีการทำให้สีเงาขึ้นมาก็คือการขัดสี โดยขั้นตอนนี้จะต้องใช้ทักษะเกี่ยวกับการใช้เครื่องขัดครับ แต่ถ้าผู้ใช้ท่านใดคิดว่าชิ้นงานที่พ่นมีความเงางามเป็นที่่น่าพอใจแล้วก็ไม่ต้องขัดก็ได้ครับ โดยเฉพาะชิ้นงานชิ้นเล็กๆ ความเงาอาจไม่ตกสักเท่าไร สามารถเพิ่มความเงางามได้ด้วยการใช้ยาเคลือบเงาที่ต้องการได้เลยครับ

ในส่วนของการขัดยาถ้าจะเอาแบบอู่ซ่อมสีกันจริงๆ ต้องใช้กระดาษทรายละเอียดประมาณเบอร์ 1500-2000 ลูบครับ แต่ในส่วนนี้ผมไม่แนะนำละกันครับ ถ้าใครอยากทำจริงๆโทรมาดีกว่าครับ ในที่นี้จะอธิบายถึงวิธีการขัดสีแบบไม่ใช้กระดาษทรายนะครับ เริ่มจากใช้ยาขัดละเอียด แต้มและเกลี่ยให้ทั่วชิ้นงาน ขัดกับใบขนแกะ โดยใช้รอบเครื่องประมาณ 1300 - 1500 รอบต่อนาที ขัดจนชิ้นงานเรียบเนียนดี จากนั้นก็ลงยาเคลือบสีตามต้องการ



ขอบคุณข้อมูลจาก http://icarpaint.lnwshop.com/article/2/