ระบบพ่นสีแบบ Air Spray และ Airless Spray ต่างกันอย่างไร ?

30/07/2021 | 3243

ระบบพ่นสีแบบ Air Spray และ Airless Spray ต่างกันอย่างไร ?

ระบบพ่นสีแบบ Air Spray คือ การพ่นสีที่ใช้แรงลมเป่าให้สีแตกเป็นฝอย เช่น การพ่นด้วยกาพ่นสี หรือถังแรงดัน (Pressure Tank) ดังนั้นปั้มลมจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของการพ่นสีแบบนี้ ใช้แรงลมเยอะ สีก็จะแตกเป็นฝอยได้ดี แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องการฟุ้งของละอองสี ชนิดของสีที่ใช้พ่นด้วยระบบ Air Spray มักจะมีความข้นหนืดไม่มากนัก เช่น สีน้ำมัน สีทาย้อมไม้ แลคเกอร์ หรือไม่ก็ต้องเติมทินเนอร์เพื่อเจือจางความข้น และเนื่องจากละอองสีที่พ่นออกมาจะเป็นส่วนผสมของลมและเนื้อสี สีที่ติดกับชิ้นงานจะน้อย ต้องคอยพ่นหลายๆรอบเพื่อให้ได้ความหนาฟิล์มสีที่ต้องการ

ข้อดี    - ทาสีขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

          -  เหมาะกับใช้งานรูปแบบที่ง่าย ๆ

ข้อเสีย  - การพ่นในปริมาณที่มากเกินไป

           - ทำงานได้ไม่ดีนักในงานที่ต้องการความแม่นยำและความละเอียด

เครื่องพ่นสีใช้ลมแบบถังแรงดัน Pressure Tank

เครื่องพ่นสีแบบถังอัดแรงดัน (Pressure Tank) เป็นระบบพ่นสีแบบ Air Spray คือใช้ลมที่มีแรงดันไปเป่าสีให้เป็นละอองฝอยเล็กๆ ส่วนสีนำไปใส่ในถังแรงอัดดัน แล้วอัดอากาศเข้าไป แรงอัดอากาศจะดันให้สีให้ไหลไปตามสายสี ที่ต่อกับปืนพ่นสี เมื่อกดไกปืน สีก็จะถูกดันไปผสมกับลม พ่นเป็นฝอยละอองสีออกไปที่ชิ้นงาน

เครื่องพ่นสีแบบถังอัดแรงดัน (Pressure Tank) มีหลายขนาดตามความจุของถังสี คือ 10, 20, 40 และ 60 ลิตร และความสามารถในการรับแรงดันของถัง คือ แรงดันต่ำ (2 บาร์) แรงดันปานกลาง (4 บาร์) และแรงดันสูง (8 บาร์)

 

 

 

เครื่องพ่นสีใช้ลมแบบปั้มไดอะแฟรม Cosmostar Air Spray

เครื่องพ่นสีใช้ลมแบบปั้มไดอะแฟรม เป็นระบบพ่นสีแบบ Air Spray คือใช้ลมที่มีแรงดันไปเป่าสีให้เป็นละอองฝอยเล็กๆ ส่วนสีดูดจากถังสีด้วยปั้มไดอะแฟรม แล้วต่อสายไปที่ปืนพ่นสี เมื่อกดไกปืน สีก็จะถูกดันไปผสมกับลม พ่นเป็นฝอยละอองสีออกไปที่ชิ้นงาน

    

ระบบพ่นสีแบบ Airless Spray คือ ระบบพ่นสีที่ใช้ปั้มอัดสีให้มีแรงดันสูง (สูงกว่าระบบ Air Spray 30-50 เท่า) แล้วพ่นออกผ่านหัวทิป ซึ่งเป็นรูเล็กๆ สีที่มีแรงดันจะถูกบีบให้แตกเป็นฝอย ละอองสีที่ออกมาจะเป็นเนื้อสี 100% ไม่มีลมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนปั้มที่ใช้อัดสี มีให้เลือกหลายแบบตามความเหมาะสมของงาน เช่น ใช้ต่อกับมอเตอร์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ลม (ใช้ลมขับปั้มเท่านั้น) หรือเครื่องยนต์เบนซิน และเนื่องจากระบบพ่นสี Airless ใช้แรงดันสูง จึงสามารถใช้พ่นสีได้เกือบทุกชนิด ละอองสีที่ออกมาเป็นเนื้อสีล้วน จึงพ่นให้ได้ความหนาที่ต้องการได้รวดเร็ว และหัวทิป Airless ยังมีขนาดให้เลือกตามความหนาฟิล์มสีที่ต้องการได้ด้วย การทำงานจึงคล่องตัวกว่า โดยเฉพาะกับการพ่นสีที่มีพื้นที่เยอะๆ หรือพ่นสีปริมาณเยอะ

    

 

 

เครื่องพ่นสี Airless จะมีอุปกรณ์หลักๆ คือ ชุดให้กำลังขับปั้ม และปั้ม ซึ่งชุดให้กำลังขับปั้ม อาจเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า มอเตอร์ลม หรือเครื่องยนต์ เหล่านี้เป็นตัวแบ่งชนิดของเครื่องพ่นสี Airless

– เครื่องพ่นสี Airless แบบมอเตอร์ไฟฟ้า ใช้กับไฟบ้าน 220 โวลท์ เสียบปลั๊ก ทำงานได้เลย ข้อดีคือใช้งานสะดวก ที่ไหนมีไฟฟ้า ก็ทำงานได้ เครื่องมีทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ ข้อจำกัด คือ ราคาเครื่องจะสูง และมีอุปกรณ์ไฟฟ้า แผงวงจรในเครื่อง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีโอกาสเสีย ถ้าระบบไฟฟ้าไม่เสถียรหรือเกิดไฟกระชาก

– เครื่องพ่นสี Airless แบบมอเตอร์ลม ตัวนี้มักจะสับสน เพราะบอกว่าเครื่อง Airless ไม่ใช้ลม แล้วเครื่องแบบนี้ใช้ลม จะเป็นเครื่อง Airless ได้อย่างไร เครื่องตัวนี้ใช้ลมในการขับปั้มเท่านั้น แต่ไม่ใช้ลมในการพ่นสี ข้อดีของเครื่องแบบนี้ คือ ปลอดภัย โดยเฉพาะกับการใช้พ่นสีที่มีทินเนอร์ เพราะไม่มีระบบไฟฟ้า ที่อาจจะทำให้เกิดประกายไฟ เครื่องทนทาน ใช้งานหนักได้ดี และราคาต่ำกว่าเครื่องแบบอื่นในสเปคที่เท่ากัน ส่วนข้อจำกัด คือ ลูกค้าต้องมีปั้มลม เหมาะกับการทำงานอยู่กับที่ในโรงงาน การเคลื่อนย้ายจะยุ่งยากเพราะต้องแบกปั้มลมไปด้วย และเครื่องแบบนี้มักจะมีขนาดใหญ่ เพราะออกแบบมาให้ทำงานหนัก พ่นสีทั้งวัน

– เครื่องพ่นสี Airless แบบใช้เครื่องยนต์ ข้อดีคือ นำไปใช้ทำงานที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะงานกลางแจ้ง ที่ไม่มีไฟฟ้า เช่น พ่นสีสะพาน สีถนน สตาร์ทเครื่องยนต์ก็ทำงานได้แล้ว ส่วนข้อจำกัด คือ ต้องสิ้นเปลืองน้ำมัน

AIRLESS SPRAY แตกต่างจาก AIR SPRAY ตรงที่   AIRLESS SPRAY จะไม่ใช้แรงของอากาศอัดความดันเพื่อการทำให้สีแตกเป็นละออง แต่จะใช้ความดันสูงในการบังคับให้สีไหลจากภาชนะเก็บเดิมผ่านสายพ่นต่อไปที่ปืนพ่นสี ณ จุดนั้นเองสีจะถูกแรงดันสูงบังคับให้ไหลออกทางช่องเปิดขนาดเล็กทำให้สีต้องแตกตัวเป็นละอองจึงจะไหลออกจากปืนได้ ซึ่งหลักการนี้จะคล้ายกับ หัวฉีดสายยางที่เราใช้รถน้ำต้นไม้ในสวน ซึ่งน้ำจะกลายเป็นละอองได้เมื่อไหลผ่านหัวฉีดที่แรงดันสูงนั่นเอง